การสอบสวนผู้เสียหายในคดีค้ามนุษย์
ประเด็นการสอบสวน- ชื่อ อายุ ที่อยู่ บิดามารดา ประวัติส่วนตัว เช่น อาชีพ รายได้ การศึกษา สถานภาพครอบครัว ใครเป็นผู้ปกครองดูแล
- จุดเริ่มต้นการติดต่อ ติดต่อด้วยเรื่องใด ใครเป็นผู้ติดต่อ
- วิธีการนำพา คนเดียวหรือกับพวก การส่ง-รับต่อเนื่องกัน ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง สถานที่พักอาศัย ใครเป็นผู้ควบคุมดูแล
- การถูกกระทำ ใครกระทำ ทำอย่างไร ด้วยวิธีการใด ถูกข่มขู่ ใช้กำลังบังคับ หรือสมัครใจ ระยะเวลาที่ให้ทำงานหรือขายบริการ สภาพสถานที่ และความเป็นอยู่
- การถูกหน่วงเหนี่ยว กักขัง ทำร้าย บังคับหรือไม่ อย่างไร
- ผลจากการกระทำ รายได้ครั้งละเท่าใด ใครเป็นผู้รับรายได้ ได้รับส่วนแบ่งอย่างไร มีอาการบาดเจ็บหรือบาดแผลอย่างไร
- การได้รับการช่วยเหลือ หรือหลบหนี พร้อมพยานหลักฐาน
ทั้งนี้ ให้ปรากฎรายละเอียด วันเวลาสถานที่เกิดเหตุ พฤติการณ์และการกระทำทั้งหลายแห่งคดี พยานหลักฐานที่เชื่อมโยงและสนับสนุนข้อเท็จจริงดังกล่าว และปรับเข้ากับข้อกฎหมายที่บัญญัติว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิด
พยานหลักฐาน มีดังนี้
- บิดามารดา ผู้ปกครอง
- บุคคลที่รู้เห็นการติดต่อระหว่างกลุ่มผู้กระทำผิดกับผู้เสียหาย
- หลักฐานการติดต่อ เช่น จดหมาย โทรศัพท์ อินเตอร์เน็ต
- หลักฐานการเดินทาง รถยนต์
- หนังสือเดินทาง เอกสารผ่านเข้าออกด่านตรวจคนเข้าเมือง
- หลักฐานทางการเงินและธนาคาร
- บันทึกส่วนตัว บันทึกการทำงาน
- บัญชีรายรับ รายจ่าย เงินส่วนส่วนแบ่ง เงินของกลาง
- ภาพถ่ายที่เกี่ยวข้อง
- ร่องรอยบาดแผล บัตรผู้ป่วย ใบเสร็จค่ารักษา รายงานการตรวจพิสูจน์ของแพทย์ หลักฐานการตรวจอายุ ดีเอ็นเอ
- สิ่งของที่ยึดได้จากที่พักอาศัย
การแจ้งสิทธิ
พนักงานสอบสวนต้องแจ้งให้ผู้เสียหายทราบตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.๒๕๕๑ ดังนี้
"มาตรา ๓๔ เพื่อประโยชน์ในการช่วยเหลือผู้เสียหาย ให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการแจ้งให้ผู้เสียหายทราบในโอกาสแรกถึงสิทธิที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ และสิทธิที่จะได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมาย
"มาตรา ๓๕ ในกรณีที่ผู้เสียหายมีสิทธิและประสงค์ที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ ให้พนักงานอัยการเรียกค่าสินไหมทดแทน แทนผู้เสียหาย ตามที่ได้รับแจ้งจากปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย
การเรียกค่าสินไหมทดแทนตามวรรคหนึ่ง พนักงานอัยการจะขอรวมไปกับคดีอาญาหรือจะยื่นคำร้องในระยะใดระหว่างที่คดีอาญากำลังพิจารณาอยู่ในศาลชั้นต้นก็ได้
คำพิพากษาในส่วนที่เรียกค่าสินไหมทดแทน ให้รวมเป็นส่วนหนึ่งแห่งคำพิพากษาในคดีอาญาและในกรณีที่ศาลสั่งให้ใช้ค่าสินไหมทดแทน ให้ถือว่าผู้เสียหายเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา และให้อธิบดีกรมบังคับคดีมีหน้าที่ดำเนินการบังคับคดีตามคำพิพากษาในกรณีนี้ด้วย
ในการดำเนินกระบวนพิจารณาเพื่อเรียกค่าสินไหมทดแทนตามวรรคหนึ่ง และการบังคับคดีตามวรรคสามมิให้เรียกค่าธรรมเนียม และให้นำความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาบังคับใช้โดยอนุโลมเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติในพระราชบัญญัติ"
การรายงานเหตุ
- รายงานเหตุตามระเบียบตามแบบฟอร์มรายงานเหตุอุกฉกรรจ์และสะเทือนขวัญและเหตุที่ต้องรายงานด่วน ให้ผู้บังคับบัญชาทราบ
- การแจ้งเหตุไปยังกองการต่างประเทศ กรณีผู้ต้องหาเป็นชาวต่างชาติ
การคุ้มครองผู้เสียหาย
- ส่งตัวไปรับการคุ้มครองสวัสดิภาพในหน่วยงานของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือ
- ใช้วิธีการคุ้มครองพยานตาม พ.ร.บ.คุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ.๒๕๕๖ และระเบียบคำสั่งที่เกี่ยวข้อง