วันอังคารที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2559

นิยามความผิดฐานค้ามนุษย์

พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. ๒๕๕๑

             มาตรา ๖   ผู้ใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
                               (๑)  -  เป็นธุระจัดหา
                                      -  ซื้อ ขาย จำหน่าย
                                      -  พามาจาก หรือส่งไปยังที่ใด
                                      -  หน่วงเหนี่ยวกักขัง
                                      -  จัดให้อยู่อาศัย หรือรับไว้ ซึ่งบุคคลใด
                              โดย
                                     -  ข่มขู่  ใช้กำลังบังคับ
                                     -  ลักพาตัว
                                     -  ฉ้อฉล  หลอกลวง
                                     -  ใช้อำนาจโดยมิชอบ
                                     -  ใช้อำนาจครอบงำบุคคลด้วยเหตุที่อยู่ในภาวะอ่อนด้อยทางร่างกาย จิตใจ การศึกษา หรือทางอื่นใดโดยมิชอบ
                                     -  ขู่เข็ญว่าจะใช้กระบวนการทางกฎหมายโดยมิชอบ  หรือโดย
                                     -  ให้เงิน หรือผลประโยชน์อย่างอื่นแก่ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลบุคคลนั้น เพื่อให้ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลบุคคลนั้น ให้ความยินยอมแก่ผู้กระทำความผิด ในการแสวงหาประโยชน์จากบุคคลที่ตนดูแล
                 หรือ
                            (๒)  -  เป็นธุระจัดหา
                                    -  ซื้อ ขาย  จำหน่าย
                                    -  พามาจาก หรือส่งไปยังที่ใด
                                    -  หน่วงเหนี่ยวกักขัง
                                    -  จัดให้อยู่อาศัย หรือรับไว้
                           ซึ่งเด็ก  (บุคคลผู้มีอายุต่ำกว่า ๑๘ ปี (มาตรา ๔))            
             ถ้าการกระทำนั้น ได้กระทำโดยมีความมุ่งหมายเพื่อเป็นการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ ผู้นั้นกระทำผิดฐานค้ามนุษย์

             การแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ตามวรรคหนึ่ง หมายความว่า การแสวงหาประโยชน์จาก
                    -  การค้าประเวณี
                    -  การผลิตหรือเผยแพร่วัตถุหรือสื่อลามก
                    -  การแสวงหาประโยชน์ทางเพศในรูปแบบอื่น
                    -  การเอาคนลงเป็นทาส หรือให้มีฐานะคล้ายทาส
                    -  การนำคนมาขอทาน
                    -  การตัดอวัยวะเพื่อการค้า
                    -  การบังคับใช้แรงงานหรือบริการ  หรือ
                    -  การอื่นใดที่คล้ายคลึงกันอันเป็นการขูดรีดบุคคล
              ไม่ว่าบุคคลนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม

              การบังคับใช้แรงงานหรือบริการ ตามวรรคสอง หมายความว่า การข่มขืนใจให้ทำงานหรือให้บริการ โดยวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
               (๑)  ทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของบุคคลนั้นเอง หรือของผู้อื่น
               (๒)  โดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ
               (๓)  โดยใช้กำลังประทุษร้าย
               (๔)  ยึดเอกสารสำคัญประจำตัวของบุคคลนั้นไว้ หรือนำภาระหนี้ของบุคคลนั้นหรือของผู้อื่นมาเป็นสิ่งผูดมัดโดยมิชอบ
               (๕)  ทำให้บุคคลนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้

             มาตรา ๗   ผู้ใด กระทำการดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดฐานค้ามนุษย์
                (๑)  สนับสนุน การกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์
                (๒)  อุปการะโดย ให้ทรัพย์สิน จัดหาที่ประชุม หรือที่พำนัก ให้แก่ผู้กระทำความผิดฐานค้ามนุษย์
                (๓)  ช่วยเหลือด้วยประการใด เพื่อให้ผู้กระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ พ้นจากการจับกุม
                (๔)  เรียก รับ หรือยอมจะรับ ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด จากผู้กระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ เพื่อมิให้ผู้กระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ถูกลงโทษ
                (๕)  ชักชวน ชี้แนะ หรือติดต่อบุคคล ให้เข้าเป็นสมาชิกขององค์กรอาชญากรรม เพื่อประโยชน์ในการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์

              มาตรา ๘   ผู้ตระเตรียม เพื่อกระทำความผิดตามมาตรา ๖  ต้องระวางโทษหนึ่งในสามของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

               มาตรา ๙   ผู้ใดสมคบ โดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป เพื่อกระทำความผิดตามมาตรา ๖ ต้องระวางโทษไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น
                 ถ้าผู้ที่สมคบกันกระทำความผิดคนหนึ่งคนใด ได้ลงมือกระทำความผิดตามที่ได้สมคบกัน ผู้ร่วมสมคบด้วยกันทุกคน ต้องระวางโทษตามที่ได้บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นอีกกระทงหนึ่งด้วย
                 ในกรณีที่ความผิด ได้กระทำถึงขั้นลงมือกระทำความผิด แต่เนื่องจากการเข้าขัดขวางของผู้สมคบ  ทำให้การกระทำนั้นกระทำไปไม่ตลอด หรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล ผู้สมคบที่กระทำการขัดขวางนั้น ต้องรับโทษตามที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่ง
                 ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง กลับใจให้ความจริงแห่งการสมคบ ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนที่จะมีการกระทำความผิดตามที่ได้มีการสมคบกัน ศาลจะไม่ลงโทษ หรือลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้

               บทกำหนดโทษ
               มาตรา ๕๒  ผู้ใดกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ ๔ ปีถึง ๑๒ ปี หรือปรับตั้งแต่สี่แสนบาทถึงหนึ่งล้านสองแสนบาท
               ถ้ากระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ได้กระทำแก่บุคคลอายุเกิน ๑๕ ปี แต่ไม่ถึง ๑๘ ปี ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ ๖ ปี ถึง ๑๕ ปี และปรับตั้งแต่หกแสนบาทถึงหนึ่งล้านห้าแสนบาท
               ถ้ากระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ได้กระทำแก่บุคคลอายุไม่เกิน ๑๕ ปี หรือผู้มีกายพิการ หรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ ๘ ปี ถึง ๒๐ ปี และปรับตั้งแต่แปดแสนบาทถึงสองล้านบาท
               มาตรา ๕๓  นิติบุคคลใดกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งล้านบาทถึงห้าล้านบาท
               ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งของนิติบุคคล เกิดจากการสั่งการ หรือการกระทำของกรรมการ หรือผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น หรือในกรณีที่บุคคลดังกล่าวมีหน้าที่ต้องสั่งการหรือกระทำการ และละเว้นไม่สั่งการหรือไม่กระทำการจนเป็นเหตุให้นิติบุคคลนั้นกระทำความผิด ผู้นั้นต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ ๖ ปี ถึง ๑๒ ปี และปรับตั้งแต่หกแสนบาทถึงหนึ่งล้านสองแสนบาท แต่ถ้าเป็นการกระทำแก่บุคคลตามมาตรา ๕๒ วรรคสอง หรือมาตรา ๕๒ วรรคสาม ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้ในมาตราดังกล่าว แล้วแต่กรณี
               มาตรา ๕๓/๑  ถ้าการกระทำผิดตามมาตรา ๕๒ หรือมาตรา ๕๓ วรรคสอง เป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำ
               (๑)  รับอันตรายสาหัส หรือเป็นโรคร้ายแรงซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ ๘ ปี ถึง ๒๐ ปี และปรับตั้งแต่แปดแสนบาทถึงสองล้านบาท หรือจำคุกตลอดชีวิต
               (๒)  ถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต

อ้างอิง -  พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๖๐

(Update ; 04/05/2560)