วันอังคารที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2559

รูปแบบการค้ามนุษย์


รูปแบบการค้ามนุษย์
                การแสวงหาประโยชน์โดยไม่ชอบ ในความผิดฐานค้ามนุษย์ ตามมาตรา ๔ แห่ง พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.๒๕๕๑ มี ๘ รูปแบบ ดังนี้
                รูปแบบที่ ๑  การค้าประเวณี
                การค้าประเวณี หมายความว่า “การยอมรับการกระทำชำเราหรือการยอมรับการกระทำอื่นใดหรือการกระทำอื่นใดเพื่อสำเร็จความใคร่ในทางกามารมณ์ของผู้อื่นอันเป็นการสำส่อนเพื่อสินจ้างหรือเพื่อประโยชน์อื่นใด ทั้งนี้ ไม่ว่าผู้ยอมรับการกระทำและผู้กระทำจะเป็นบุคคลเพศเดียวกันหรือคนละเพศ” การค้ามนุษย์ในรูปแบบนี้คือ การนำมนุษย์ไปเป็นโสเภณี อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.๒๕๓๙
                คำว่า “การกระทำอื่นใดเพื่อสำเร็จความใคร่” อันเป็นการค้าประเวณี หมายความรวมไปถึงการสำเร็จความใคร่ด้วยปากให้แก่ผู้อื่นด้วย ส่วนคำว่า “เพื่อประโยชน์อื่นใด” นั้นไม่จำกัดว่าจะเป็นตัวเงินอย่างเดียว แต่มีความหมายกว้างกว่าสินจ้าง
                การกระทำความผิดฐานค้าประเวณีนั้น แม้ว่าผู้ถูกกระทำชำเราหรือผู้กระทำชำเราได้สมัครใจยอมรับการกระทำ โดยไม่มีการบังคับ ขู่เข็ญ ก็เป็นความผิดฐานค้าประเวณีได้  แต่ถ้าจะเป็นความผิดฐานค้ามนุษย์ได้นั้น ถ้าผู้ถูกกระทำชำเรามีอายุตั้งแต่ ๑๘ ปีบริบูรณ์ขึ้นไป จะเข้าความผิดฐานค้ามนุษย์ได้นั้นผู้นั้นต้องถูกข่มขู่ ใช้กำลังบังคับ ฯลฯ ซึ่งหมายถึงการไม่สมัครใจนั่นเองตามมาตรา ๖ (๑) แต่ถ้าเป็นเด็กอายุยังไม่ถึง ๑๘ ปี แม้ไม่ต้องมีการข่มขู่ ใช้กำลังบังคับ ก็เป็นความผิดฐานค้ามนุษย์แล้ว ตามมาตรา ๖ (๒) ทั้งนี้ การแสวงหาประโยชน์เพื่อประโยชน์ทางตรงหรือทางอ้อมก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นตัวเงินเพียงอย่างเดียว
                 รูปแบบที่ ๒  การแสวงหาประโยชน์ในรูปแบบอื่น
                 การใช้เพศเป็นเครื่องมือในการแสวงหาประโยชน์หรือให้ขายสินค้าได้ แต่การกระทำนั้นต้องเป็นการกระทำผิดกฎหมายอย่างอื่นด้วย เช่น การเปลือยกาย ซึ่งเป็นการแสดงลามกอนาจารในสถานที่สาธารณะหรือแสดงสิ่งที่น่าอับอายต่อหน้าธารกำนัล จึงจะเข้าลักษณะความผิดฐานค้ามนุษย์ กรณีรูปแบบนี้ ถ้าเป็นผู้ใหญ่ต้องมีการข่มขู่หรือใช้กำลังบังคับจึงจะเป็นความผิด ถ้าเป็นเด็กไม่ต้องมีการข่มขู่หรือใช้กำลังบังคับก็เป็นความผิด
                  รูปแบบที่ ๓  การผลิตหรือเผยแพร่วัตถุหรือสื่อลามก
                  สื่อลามก หมายถึง เป็นการแสดงออกในรูปภาพเปลือย เห็นอวัยวะเพศ มีเนื้อหาร่วมเพศ กระตุ้นทำให้เกิดความใคร่ทางกามารมณ์ เช่น ภาพหญิงเปลือยท่อนบนมีมือข้างหนึ่งถือโทรศัพท์กดอยู่บนอวัยวะเพศ เป็นต้น สามารถปรากฎได้ในสื่อทุกรูปแบบ คลิปวีดิโอ การ์ตูน หรือการเขียนพรรณาให้เกิดจินตนาการ
                  การผลิต คือ การกระทำถ่ายคลิปต่าง ๆ การเผยแพร่ คือการจำหน่าย
                  กรณีนี้ จะเป็นความผิดฐานค้ามนุษย์ได้ ต่อเมื่อ ถ้าเป็นผู้ใหญ่ต้องมีการข่มขู่หรือใช้กำลังบังคับจึงจะเป็นความผิด ถ้าเป็นเด็กไม่ต้องมีการข่มขู่หรือใช้กำลังบังคับก็เป็นความผิด
                  รูปแบบที่ ๔  การเอาคนลงเป็นทาส
                  ยกตัวอย่างเช่น คดีชาวโรฮิงญา มีการบังคับให้ไปประเทศมาเลเซีย ถ้าไม่ไปก็จะถูกขู่ฆ่า ต้องให้ญาติเอาเงินมาไถ่ตัว ทั้งนี้ ตามอนุสัญญาต่อต้านการเอาคนลงเป็นทาส (Slavery Convention (๑๙๒๖)) ได้ นิยามคำว่า “ทาส” ว่าหมายถึง “สถานะหรือเงื่อนไขที่บุคคลหนึ่งมีอยู่เหนือบุคคลอื่นโดยมีการใช้อำนาจทุกอย่างอันพึงมีในฐานะเป็นเจ้าของ” มนุษย์ไม่อาจเป็นเจ้าของกันได้ คำว่า “เจ้าของ” ใช้เฉพาะทรัพย์สินเท่านั้น ในสมัยก่อนใครเป็นหนี้ต้องเอาตัวลงเป็นทาสเพื่อชดใช้หนี้ดังกล่าว และย่อมหมายถึงการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากแรงงานเด็ก
                 อาจารย์หยุด แสงอุทัย ให้คำนิยามคำว่า "ทาส" คือการอยู่ภายใต้อำนาจของผู้อื่นโดยสิ้นเชิง และต้องทำงานให้แก่ผู้อื่น มีการอ้างสิทธิ์เหนือบุคคลอื่นโดยเด็ดขาดในเสรีภาพ ร่างกายของผู้นั้นโดยฝ่าฝืนความสมัครใจของผู้นั้น อาจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ ให้คำนิยามว่า "ทาส" คืออยู่ภายใต้บุคคลอื่นให้ทำงาน ไม่ได้ค่าตอบแทน ถูกทำโทษได้ หาได้อยู่ภายใต้อำนาจของผู้อื่นโดยเด็ดขาด ไม่แค่ถูกขู่ทำร้ายหรือถูกซ้อมเท่านั้นแม้ว่าจะมีเวลาทำอย่างอื่นได้บ้าง ก็ถือว่าเป็นทาส
                 การใช้แรงงานเกินกำลังของเด็กที่จะรับสภาพได้ กฏหมายแรงงานห้ามมิให้นายจ้างรับเด็กอายุยังไม่ถึง ๑๕ ปี ทำงานโดยเด็ดขาด และการทำร้ายร่างกายให้ทำงานเร็วขึ้น เมื่อเกิดบาดแผลก็ไม่รักษาพยาบาล ย่อมมีลักษณะเป็นการเอาคนลงเป็นทาส กรณีนี้จะเป็นความผิดฐานค้ามนุษย์ได้ก็ต่อเมื่อทั้งเด็กและผู้ใหญ่ไม่ได้สมัครใจเป็นสำคัญ

ข้อกฎหมายเกี่ยวกับผู้ค้าประเวณี

ผู้กระทำผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.๒๕๓๙ (โดยย่อ)

              สถานการค้าประเวณี  หมายความว่า สถานที่ที่จัดไว้เพื่อการค้าประเวณี หรือยอมให้มีการค้าประเวณี และให้หมายความรวมถึง สถานที่ที่ใช้ในการติดต่อหรือจัดหาบุคคลอื่นเพื่อการค้าประเวณีด้วย

คำชี้ขาดความเห็นแย้งที่ ๖๕/๒๕๕๓
พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีฯ (มาตรา ๙, ๑๑)
ป.อ. เป็นธุระจัดหาฯ (มาตรา ๒๘๒)
             คดีมีผู้กล่าวหากับพวกซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจยืนยันว่าเข้าล่อซื้อการค้าประเวณีที่ร้านอาหารที่เกิดเหตุ มีผู้ต้องหาซึ่งดูแลกิจการร้านอาหารดังกล่าวเข้ามาติดต่อกับผู้กล่าวหากับพวกว่า ต้องการหญิงสาวชาวลาวไปร่วมหลับนอนหรือไม่ เมื่อผู้กล่าวหากับพวกตอบตกลงและได้จ่ายเงินจำนวน ๓,๐๐๐ บาท เป็นธนบัตรที่ได้ลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานก่อนหน้าแล้ว จึงพาหญิงสาวชาวลาว ๓ คน ซึ่งขายบริการออกไปจากร้าน พร้อมทั้งได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจอื่นซึ่งสังเกตการณ์อยู่เข้าจับกุมและยึดเงินสดที่ล่อซื้อ
             คดีมีหลักฐานพอฟ้อง ชี้ขาดให้ฟ้องและอนุญาตให้ฟ้องผู้ต้องหา ฐานเป็นเจ้าของกิจการการค้าประเวณี ผู้ดูแล หรือผู้จัดการ กิจการการค้าประเวณีหรือสถานการค้าประเวณีและเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น เป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือชักพาไปซึ่งบุคคลใดเพื่อการอนาจาร เพื่อให้บุคคลนั้นกระทำการค้าประเวณี แม้บุคคลนั้นจะยินยอมก็ตาม ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๙, ๑๑  ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๒, ๙๐, ๙๑  พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๒๖ มาตรา ๔  พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๔๐ มาตรา ๔
             (ข้อพิจารณา.-  สถานที่ที่ใช้ในการติดต่อหรือจัดหาบุคคลอื่นเพื่อการค้าประเวณี แม้ไม่ใช่สถานที่ที่มีไว้สำหรับการค้าประเวณีหรือไม่ได้มีลักษณะเพื่อการค้าประเวณีโดยตรง กฎหมายก็ให้ถือว่าเป็นสถานการค้าประเวณีแล้ว แต่กรณีจะถือว่าเจ้าของ ผู้ดูแล หรือผู้จัดการสถานที่ดังกล่าวนั้น เป็นเจ้าของ ผู้ดูแล หรือผู้จัดการสถานการค้าประเวณีตามกฎหมายนี้ด้วยนั้น ต้องปรากฎว่าบุคคลดังกล่าวมีเจตนารู้เห็นเป็นใจในการกระทำผิดด้วย)
             ผู้ติดต่อ แนะนำหรือมั่วสุม ทั้งหญิง-ชาย
             มาตรา ๕  เข้าติดต่อ ชักชวน แนะนำตัว ติดตาม หรือรบเร้า  ตามถนน สาธารณสถาน หรือในที่อื่นใด  เพื่อการค้าประเวณี อันเป็นการเปิดเผยและน่าอับอาย หรือเป็นที่เดือดร้อนรำคาญแก่สาธารณชน  (ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท)
             มาตรา ๖  เข้าไปมั่วสุมในสถานการค้าประเวณี  เพื่อประโยชน์ในการค้าประเวณีของตนหรือผู้อื่น  (ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  ถ้าถูกบังคับ หรือตกอยู่ภายใต้อำนาจซึ่งไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้ ผู้กระทำไม่มีความผิด)
             (ข้อพิจารณา.-  ผู้ที่เข้าติดต่อ แนะนำตัวเพื่อค้าประเวณีโดยเปิดเผยและน่าอับอายในสถานที่อื่นใด หรือ กรณีมั่วสุมอยู่ในสถานการค้าประเวณี ผู้นั้นมีโทษตามกฎหมายแต่ค่อนข้างเบา แต่ถ้าผู้ค้าประเวณีเข้าติดต่อกันอย่างลับ ๆ ไม่ได้มีลักษณะเป็นการมั่วสุมกันอยู่ในสถานที่ติดต่อแนะนำตัว การกระทำของผู้นั้นย่อมไม่เป็นความผิดมาตรานี้
             ผู้โฆษณา
             มาตรา ๗  ผู้ใดโฆษณาหรือรับโฆษณา ชักชวน หรือแนะนำตัว  ด้วยเอกสาร สิ่งพิมพ์ หรือกระทำให้แพร่หลายด้วยวิธีใดไปยังสาธารณะ  ในลักษณะที่เห็นได้ว่าเป็นการเรียกร้องหรือการติดต่อเพื่อการค้าประเวณีของตนเองหรือผู้อื่น  (ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสองปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ)

แบบฟอร์มหนังสือขอสืบพยานไว้ล่วงหน้า

                                                                          (ครุฑ)
ที่  ตช ...................                                                                                               สภ. ...............................

                                                                                    วัน ... เดือน ............. พ.ศ. ...............

เรื่อง      สืบพยานไว้ก่อน
เรียน     (พนักงานอัยการเขตอำนาจ) .......
สิ่งที่ส่งมาด้วย   ๑. สำเนาคำให้การผู้กล่าวหา     จำนวน ... แผ่น
                         ๒. เอกสารที่เกี่ยวข้อง                จำนวน  ... แผ่น

                         ด้วย พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจ ......................................................... มีความประสงค์ ขอให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อขอสืบพยานในคดีอาญาก่อนฟ้องผู้ต้องหา โดยมีเหตุผลและความจำเป็น ดังต่อไปนี้
                         ๑. ด้วยปรากฏว่า เมื่อวันที่ .... เดือน................. พ.ศ. ........ (ให้ระบุการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่า ผู้ต้องหาได้กระทำความผิด) เหตุเกิดที่ ................... ตำบล................. อำเภอ ................... จังหวัด ........................
                         ๒. (เหตุผลและความจำเป็นที่ต้องสืบพยานไว้ก่อน) ......................................................
...............................................................................................................................................................
                         ๓. รายชื่อพยานที่จะต้องนำสืบไว้ก่อน
                              ๓.๑  ชื่อ ...................................... อายุ .......ปี อยู่บ้านเลขที่  .............. แขวง/ตำบล .................... เขต/อำเภอ ...................... จังหวัด ...........................
                              ๓.๒  ชื่อ ...................................... อายุ .......ปี อยู่บ้านเลขที่  .............. แขวง/ตำบล .................... เขต/อำเภอ ...................... จังหวัด ...........................
                        ๔. พนักงานสอบสวนได้ส่งหลักฐานการสอบสวนเบื้องต้น และนำตัวผู้ต้องหามายังพนักงานอัยการพร้อมคำร้องนี้ จำนวน ....... คน (กรณีมีการจับกุมตัวผู้ต้องหา)
                             ๔.๑  ..................................................................................................
                             ๔.๒  ..................................................................................................
                             ๔.๓  ..................................................................................................

                        จึงเรียนมาเพื่อขอให้พนักงานอัยการพิจารณาดำเนินการตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.๒๕๕๑ มาตรา ๓๑ และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๓๗ ทวิ ต่อไป

                                                                          (ลงชื่อ) ......................................... พนักงานสอบสวน.

การสืบพยานไว้ก่อนและคุ้มครองผู้เสียหาย

พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.๒๕๕๑
              "มาตรา ๓๑  ก่อนฟ้องคดีต่อศาล ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พนักงานอัยการโดยตนเองหรือโดยได้รับคำร้องขอจากพนักงานสอบสวน จะนำผู้เสียหายหรือพยานบุคคลมายื่นคำร้องต่อศาล โดยระบุการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าได้มีการกระทำความผิดและเหตุแห่งความจำเป็นที่จะต้องมีการสืบพยานไว้โดยพลันก็ได้
              ในกรณีที่ผู้เสียหายหรือพยานบุคคลจะให้การต่อศาลเอง เมื่อผู้เสียหายหรือพยานบุคคลแจ้งแก่พนักงานอัยการแล้ว ให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลโดยไม่ชักช้า
              ให้ศาลสืบพยานทันทีที่ได้รับคำร้องตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ในการนี้ หากผู้มีส่วนได้เสียในคดีคนใดยื่นคำร้องต่อศาลแถลงเหตุผลและความจำเป็นขอถามค้านหรือตั้งทนายความถามค้าน เมื่อเห็นสมควรก็ให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตได้ และให้นำความในมาตรา ๒๓๗ ทวิ วรรคสาม และวรรคสี่ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับโดยอนุโลม
              ถ้าต่อมามีการฟ้องผู้ต้องหาเป็นจำเลย ในการกระทำความผิดตามที่กำหนดไว้ในหมวด ๑ ก็ให้รับฟังพยานดังกล่าวในการพิจารณาพิพากษาคดีนั้นได้"

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
            "มาตรา ๒๓๗ ทวิ  ก่อนฟ้องคดีต่อศาล เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าพยานบุคคลจะเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง หรือเป็นบุคคลมีถิ่นที่อยู่ห่างไกลจากศาลที่พิจารณาคดี หรือมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะมีการยุ่งเหยิงกับพยานนั้นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม หรือมีเหตุจำเป็นอื่นอันเป็นการยากแก่การนำพยานนั้นมาสืบในภายหน้าพนักงานอัยการโดยตนเองหรือโดยได้รับคำร้องขอจากผู้เสียหายหรือจากพนักงานสอบสวน จะยื่นคำร้องโดยระบุการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าผู้ต้องหาได้กระทำผิดต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้สืบพยานนั้นไว้ทันทีก็ได้ ถ้ารู้ตัวผู้กระทำความผิด และผู้นั้นถูกควบคุมอยู่ในอำนาจพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ ให้พนักงานอัยการนำตัวผู้นั้นมาศาล หากถูกควบคุมอยู่ในอำนาจของศาล ให้ศาลเบิกตัวผู้นั้นมาพิจารณาต่อไป
              เมื่อศาลได้รับคำร้องเช่นว่านั้น ให้ศาลสืบพยานนั้นทันที ในการนี้ ผู้ต้องหาจะซักค้านหรือตั้งทนายความซักค้านพยานนั้นด้วยก็ได้
              ในกรณีตามวรรคสอง ถ้าเป็นกรณีที่ผู้ต้องหานั้นถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญา ซึ่งหากมีการฟ้องคดีจะเป็นคดีซึ่งศาลจะต้องตั้งทนายความให้ หรือจำเลยมีสิทธิขอให้ศาลตั้งทนายความให้ตามมาตรา ๑๗๓ ก่อนเริ่มสืบพยานดังกล่าว ให้ศาลถามผู้ต้องหาว่ามีทนายความหรือไม่ ในกรณีที่ศาลต้องตั้งทนายความให้ ถ้าศาลเห็นว่าตั้งทนายความให้ทันก็ให้ตั้งทนายความให้และดำเนินการสืบพยานนั้นทันที แต่ถ้าศาลเห็นว่าไม่สามารถตั้งทนายความได้ทันหรือผู้ต้องหาไม่อาจตั้งทนายความได้ทัน ก็ให้ศาลซักถามพยานนั้นให้แทน
               คำเบิกความของพยานดังกล่าวให้ศาลอ่านให้พยานฟัง หากมีตัวผู้ต้องหาอยู่ในศาลด้วยแล้ว ก็ให้ศาลอ่านคำเบิกความดังกล่าวต่อหน้าผู้ต้องหา
               ถ้าต่อมาผู้ต้องหานั้นถูกฟ้องเป็นจำเลยในการกระทำความผิดอาญานั้น ก็ให้รับฟังคำพยานดังกล่าวในการพิจารณาคดีนั้นได้
              ในกรณีที่ผู้ต้องหาเห็นว่า หากตนถูกฟ้องเป็นจำเลยแล้ว บุคคลซึ่งจำเป็นจะต้องนำมาสืบเป็นพยานของตนจะเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง หรือเป็นบุคคลมีถิ่นที่อยู่ห่างไกลจากศาลที่พิจารณาคดี หรือมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะมีการยุ่งเหยิงกับพยานนั้นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม หรือมีเหตุจำเป็นอื่นอันเป็นการยากแก่การนำพยานนั้นมาสืบในภายหน้า ผู้ต้องหานั้นจะยื่นคำร้องต่อศาลโดยแสดงเหตุผลความจำเป็น เพื่อให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้สืบพยานบุคคลนั้นไว้ทันทีก็ได้
              เมื่อศาลเห็นสมควร ให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้สืบพยานนั้น และแจ้งให้พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการที่เกี่ยวข้องทราบ ในการสืบพยานดังกล่าว พนักงานอัยการมีสิทธิที่จะซักค้านพยานนั้นได้ และให้นำความในวรรคสาม วรรคสี่ และวรรคห้า มาใช้บังคับโดยอนุโลม
             ให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๑๗๒ ตรี มาใช้บังคับโดยอนุโลมแก่การสืบพยานที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี"

กระบวนการสอบสวนผู้เสียหายในคดีค้ามนุษย์

การสอบสวนผู้เสียหายในคดีค้ามนุษย์  
         ประเด็นการสอบสวน
         -  ชื่อ อายุ ที่อยู่ บิดามารดา ประวัติส่วนตัว เช่น อาชีพ รายได้ การศึกษา สถานภาพครอบครัว ใครเป็นผู้ปกครองดูแล
         -  จุดเริ่มต้นการติดต่อ ติดต่อด้วยเรื่องใด ใครเป็นผู้ติดต่อ
         -  วิธีการนำพา คนเดียวหรือกับพวก การส่ง-รับต่อเนื่องกัน ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง สถานที่พักอาศัย ใครเป็นผู้ควบคุมดูแล
         -  การถูกกระทำ ใครกระทำ ทำอย่างไร ด้วยวิธีการใด ถูกข่มขู่ ใช้กำลังบังคับ หรือสมัครใจ ระยะเวลาที่ให้ทำงานหรือขายบริการ สภาพสถานที่ และความเป็นอยู่
         -  การถูกหน่วงเหนี่ยว กักขัง ทำร้าย บังคับหรือไม่ อย่างไร
         -  ผลจากการกระทำ รายได้ครั้งละเท่าใด ใครเป็นผู้รับรายได้ ได้รับส่วนแบ่งอย่างไร มีอาการบาดเจ็บหรือบาดแผลอย่างไร
         -  การได้รับการช่วยเหลือ หรือหลบหนี พร้อมพยานหลักฐาน
            ทั้งนี้ ให้ปรากฎรายละเอียด วันเวลาสถานที่เกิดเหตุ พฤติการณ์และการกระทำทั้งหลายแห่งคดี พยานหลักฐานที่เชื่อมโยงและสนับสนุนข้อเท็จจริงดังกล่าว และปรับเข้ากับข้อกฎหมายที่บัญญัติว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิด
        พยานหลักฐาน  มีดังนี้
         -  บิดามารดา ผู้ปกครอง
         -  บุคคลที่รู้เห็นการติดต่อระหว่างกลุ่มผู้กระทำผิดกับผู้เสียหาย
         -  หลักฐานการติดต่อ เช่น จดหมาย โทรศัพท์ อินเตอร์เน็ต
         -  หลักฐานการเดินทาง รถยนต์
         -  หนังสือเดินทาง เอกสารผ่านเข้าออกด่านตรวจคนเข้าเมือง
         -  หลักฐานทางการเงินและธนาคาร
         -  บันทึกส่วนตัว บันทึกการทำงาน
         -  บัญชีรายรับ รายจ่าย เงินส่วนส่วนแบ่ง เงินของกลาง
         -  ภาพถ่ายที่เกี่ยวข้อง
         -  ร่องรอยบาดแผล บัตรผู้ป่วย ใบเสร็จค่ารักษา รายงานการตรวจพิสูจน์ของแพทย์ หลักฐานการตรวจอายุ ดีเอ็นเอ
         -  สิ่งของที่ยึดได้จากที่พักอาศัย            
            การแจ้งสิทธิ
            พนักงานสอบสวนต้องแจ้งให้ผู้เสียหายทราบตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.๒๕๕๑ ดังนี้
            "มาตรา ๓๔  เพื่อประโยชน์ในการช่วยเหลือผู้เสียหาย ให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการแจ้งให้ผู้เสียหายทราบในโอกาสแรกถึงสิทธิที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ และสิทธิที่จะได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมาย
            "มาตรา ๓๕  ในกรณีที่ผู้เสียหายมีสิทธิและประสงค์ที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ ให้พนักงานอัยการเรียกค่าสินไหมทดแทน แทนผู้เสียหาย ตามที่ได้รับแจ้งจากปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย
              การเรียกค่าสินไหมทดแทนตามวรรคหนึ่ง พนักงานอัยการจะขอรวมไปกับคดีอาญาหรือจะยื่นคำร้องในระยะใดระหว่างที่คดีอาญากำลังพิจารณาอยู่ในศาลชั้นต้นก็ได้
              คำพิพากษาในส่วนที่เรียกค่าสินไหมทดแทน ให้รวมเป็นส่วนหนึ่งแห่งคำพิพากษาในคดีอาญาและในกรณีที่ศาลสั่งให้ใช้ค่าสินไหมทดแทน ให้ถือว่าผู้เสียหายเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา และให้อธิบดีกรมบังคับคดีมีหน้าที่ดำเนินการบังคับคดีตามคำพิพากษาในกรณีนี้ด้วย
              ในการดำเนินกระบวนพิจารณาเพื่อเรียกค่าสินไหมทดแทนตามวรรคหนึ่ง และการบังคับคดีตามวรรคสามมิให้เรียกค่าธรรมเนียม และให้นำความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาบังคับใช้โดยอนุโลมเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติในพระราชบัญญัติ"
          การรายงานเหตุ
          -  รายงานเหตุตามระเบียบตามแบบฟอร์มรายงานเหตุอุกฉกรรจ์และสะเทือนขวัญและเหตุที่ต้องรายงานด่วน ให้ผู้บังคับบัญชาทราบ
          -  การแจ้งเหตุไปยังกองการต่างประเทศ กรณีผู้ต้องหาเป็นชาวต่างชาติ
          การคุ้มครองผู้เสียหาย
          -  ส่งตัวไปรับการคุ้มครองสวัสดิภาพในหน่วยงานของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  หรือ
          -  ใช้วิธีการคุ้มครองพยานตาม พ.ร.บ.คุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ.๒๕๕๖ และระเบียบคำสั่งที่เกี่ยวข้อง

ขั้นตอนการรับแจ้งความและสอบสวนคดีค้ามนุษย์

การรับแจ้งความ
             กรณีมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือหน่วยงานภาครัฐหรือภาคเอกชน พาผู้เสียหายเข้ามาร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน หรือ กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนและพบผู้เสียหายด้วยตนเอง โดยได้เบาะแสการกระทำผิดตามสถานบริการ ร้านคาราโอเกะ ร้านอาหาร โรงแรม หรือสถานที่ประกอบการต่าง ๆ ให้พนักงานสอบสวนรับตัวผู้เสียหายพร้อมแบบสัมภาษณ์เบื้องต้นสำหรับคัดกรองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ เพื่อรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดฐานค้ามนุษย์
            กรณีผู้เสียหายหรือญาติเป็นผู้พาผู้เสียหายมาร้องทุกข์ หรือได้รับการร้องขอจากหน่วยงานองค์กรต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผู้เสียหายไม่อยู่ในสภาพที่จะช่วยเหลือตนเองได้และได้ขอความช่วยเหลือผ่านญาติ หรือประชาชนที่พบเห็นแล้วแจ้งให้ทราบ พนักงานสอบสวนต้องจัดให้มีการคัดกรองเหยื่อหรือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ตามแบบสัมภาษณ์
การสอบปากคำผู้เสียหาย
            ก่อนลงมือสอบปากคำผู้เสียหายต้องวางแผนการสอบสวน เพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับพยานหลักฐานทางคดีและครบถ้วนในประเด็นสอบสวนเพื่อให้ครบองค์ประกอบข้อกฎหมายมากที่สุด โดยให้อยู่ในกรอบสมมุติฐานของฐานความผิดที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ร่วมกระทำผิด ผู้สมคบเป็นใคร คำให้การมีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด สามารถขยายผลเพื่อดำเนินคดีกับผู้ใดได้อีกบ้าง
           ดังนั้น เพื่อความสมบูรณ์ของการสอบสวนผู้เสียหาย ควรจะต้องมีการซักถามข้อมูลเบื้องต้นจากผู้เสียหายก่อนแล้วจึงวางแผนกำหนดประเด็นการสอบสวน และรวบรวมพยานหลักฐานเท่าที่มีเพื่อประกอบการสอบสวนปากคำ การกำหนดประเด็นหลักในการสอบปากคำผู้เสียหาย ได้แก่
          (๑)   ผู้เสียหายที่เป็นเหยื่อทั่วไป
          (๒)  ผู้เสียหายที่เป็นเหยื่อที่เดินทางจากประเทศไทยแล้วถูกส่งไปค้ามนุษย์ในต่างประเทศ โดยประเทศไทยเป็นต้นทาง
          (๓)  ผู้เสียหายที่เดินทางมาจากประเทศอื่นเข้ามายังประเทศไทยแล้วจะเดินทางไปยังต่างประเทศ แต่ปรากฎว่าจะเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ โดยประเทศไทยเป็นทางผ่าน
          (๔) ผู้เสียหายที่มาจากประเทศอื่นแล้วตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ในประเทศไทย โดยประเทศไทยเป็นประเทศปลายทาง
วิธีดำเนินการสอบสวน
           ในกรณีสอบสวนผู้เสียหายที่เป็นผู้ใหญ่ไม่ว่าชายหรือหญิง ถ้าเป็นความผิดอื่นนอกจากความผิดเกี่ยวกับเพศ ให้ใช้วิธีดำเนินการสอบสวนตามปกติ แต่ถ้าเป็นความผิดเกี่ยวกับเพศ และผู้เสียหายเป็นหญิง ก็ให้พนักงานสอบสวนหญิงเป็นผู้สอบสวน เว้นแต่มีผู้เสียหายนั้นยินยอมหรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่น  และผู้เสียหายจะขอให้บุคคลใดอยู่ร่วมในการถามปากคำนั้นด้วยก็ได้
           ในกรณีสอบสวนผู้เสียหายที่เป็นเด็ก ให้ดำเนินการสอบสวนตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๓๓ ทวิ โดยก่อนถามปากคำให้แจ้งสิทธิให้เด็กทราบ และถ้าเป็นความผิดเกี่ยวกับเพศ และผู้เสียหายเป็นหญิง ก็ให้พนักงานสอบสวนหญิงเป็นผู้สอบสวน เว้นแต่มีผู้เสียหายนั้นยินยอมหรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่น  ทั้งนี้ อาจจัดหาบุคคลที่เด็กไว้วางใจหรือร้องขอให้เข้าร่วมฟังในการถามปากคำนั้นด้วย
           ในคดีที่เหตุเกิดนอกราชอาณาจักร ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๒๐ จะต้องมีพนักงานอัยการร่วมสอบสวน แล้วต้องแจ้งพนักงานอัยการคุ้มครองเด็กตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๓๓ ทวิ ร่วมอยู่ด้วยในการถามปากคำผู้เสียหาย เด็กอายุต่ำกว่า ๑๕ ปี ไม่ต้องสาบานตน  การสอบสวนให้ใช้ภาษาไทย และในกรณีเป็นคนต่างด้าวให้ใช้ล่ามแปล

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคดีค้ามนุษย์

               ความผิดฐานค้ามนุษย์ ส่วนมากจะมีการกระทำนั้นเข้าองค์ประกอบความผิดทางอาญาตามกฎหมายอื่น เช่น ประมวลกฎหมายอาญา กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี  กฎหมายคนเข้าเมือง หรือกฎหมายแรงงาน ซึ่งเป็นการกระทำกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบท สุดท้ายแล้ว ศาลจะลงโทษบทหนักแก่ผู้กระทำผิด

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคดีค้ามนุษย์ ได้แก่
              -  พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.๒๕๕๑
              -  พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๘
              -  พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๖๐
              -  พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ พ.ศ.๒๕๕๙
              -  ประมวลกฎหมายอาญา
              -  พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.๒๕๓๙
              -  พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.๒๕๔๖
              -  พระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.๒๕๐๙
              -  พระราชบัญญัติสถานบริการ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๔๖
              -  พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒
              -  พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.๒๕๕๑
              -  พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑
              -  กฎกระทรวงที่ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑
              -  พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๖๐
              -  พระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน พ.ศ.๒๕๕๙
              -  พระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.๒๕๕๔
              -  พระราชบัญญัติจัดระเบียบกิจการแพปลา พ.ศ.๒๔๙๖
              -  พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.๒๔๕๖
              -  พระราชบัญญัติเรือไทย พ.ศ.๒๔๘๑
              -  พระราชกำหนดการประมง พ.ศ.๒๕๕๘
              -  พระราชบัญญัติว่าด้วยสิทธิการประมงในเขตการประมงไทย พ.ศ.๒๔๘๒
              -  พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.๒๕๕๑
              -  พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐
              -  พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.๒๕๔๒

นิยามความผิดฐานค้ามนุษย์

พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. ๒๕๕๑

             มาตรา ๖   ผู้ใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
                               (๑)  -  เป็นธุระจัดหา
                                      -  ซื้อ ขาย จำหน่าย
                                      -  พามาจาก หรือส่งไปยังที่ใด
                                      -  หน่วงเหนี่ยวกักขัง
                                      -  จัดให้อยู่อาศัย หรือรับไว้ ซึ่งบุคคลใด
                              โดย
                                     -  ข่มขู่  ใช้กำลังบังคับ
                                     -  ลักพาตัว
                                     -  ฉ้อฉล  หลอกลวง
                                     -  ใช้อำนาจโดยมิชอบ
                                     -  ใช้อำนาจครอบงำบุคคลด้วยเหตุที่อยู่ในภาวะอ่อนด้อยทางร่างกาย จิตใจ การศึกษา หรือทางอื่นใดโดยมิชอบ
                                     -  ขู่เข็ญว่าจะใช้กระบวนการทางกฎหมายโดยมิชอบ  หรือโดย
                                     -  ให้เงิน หรือผลประโยชน์อย่างอื่นแก่ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลบุคคลนั้น เพื่อให้ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลบุคคลนั้น ให้ความยินยอมแก่ผู้กระทำความผิด ในการแสวงหาประโยชน์จากบุคคลที่ตนดูแล
                 หรือ
                            (๒)  -  เป็นธุระจัดหา
                                    -  ซื้อ ขาย  จำหน่าย
                                    -  พามาจาก หรือส่งไปยังที่ใด
                                    -  หน่วงเหนี่ยวกักขัง
                                    -  จัดให้อยู่อาศัย หรือรับไว้
                           ซึ่งเด็ก  (บุคคลผู้มีอายุต่ำกว่า ๑๘ ปี (มาตรา ๔))            
             ถ้าการกระทำนั้น ได้กระทำโดยมีความมุ่งหมายเพื่อเป็นการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ ผู้นั้นกระทำผิดฐานค้ามนุษย์

             การแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ตามวรรคหนึ่ง หมายความว่า การแสวงหาประโยชน์จาก
                    -  การค้าประเวณี
                    -  การผลิตหรือเผยแพร่วัตถุหรือสื่อลามก
                    -  การแสวงหาประโยชน์ทางเพศในรูปแบบอื่น
                    -  การเอาคนลงเป็นทาส หรือให้มีฐานะคล้ายทาส
                    -  การนำคนมาขอทาน
                    -  การตัดอวัยวะเพื่อการค้า
                    -  การบังคับใช้แรงงานหรือบริการ  หรือ
                    -  การอื่นใดที่คล้ายคลึงกันอันเป็นการขูดรีดบุคคล
              ไม่ว่าบุคคลนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม

              การบังคับใช้แรงงานหรือบริการ ตามวรรคสอง หมายความว่า การข่มขืนใจให้ทำงานหรือให้บริการ โดยวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
               (๑)  ทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของบุคคลนั้นเอง หรือของผู้อื่น
               (๒)  โดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ
               (๓)  โดยใช้กำลังประทุษร้าย
               (๔)  ยึดเอกสารสำคัญประจำตัวของบุคคลนั้นไว้ หรือนำภาระหนี้ของบุคคลนั้นหรือของผู้อื่นมาเป็นสิ่งผูดมัดโดยมิชอบ
               (๕)  ทำให้บุคคลนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้